วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

รศ.ดร.สังศิต กับ ผลการศึกษากรณีชินคอร์ปที่ผิดพลาดและบิดเบือน

สารบัญบล็อก

เรื่องนี้ได้เริ่มเขียนครั้งแรกที่เมื่อต้นปี 53 ที่ เว็บไซต์ newskythailand, pantip, konthaiuk และต้นปี 55 ที่ prachatalk

ผลการศึกษากรณีชินคอร์ปฯของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
“………เมื่อเทียบผลกำไรที่บริษัท ชินคอร์ป ได้รับระหว่างปี 2541 – 2547 บริษัท ชินคอร์ป เอไอเอส และชินแซท มีกำไรสุทธิรวม 111,877 ล้านบาท โดยก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งชินคอร์ปจะเป็นนายกฯ 3 บริษัทดังกล่าวมีกำไรสุทธิเพียง 26,221 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นนายกฯแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 – 2547 ทั้ง 3 บริษัทกลับมีกำไรสุทธิ 85,656 ล้านบาท สูงกว่าช่วงที่ไม่ได้เป็นนายกฯถึง 59,435 ล้านบาท หรือ คิดเป็นกำไรสูงขึ้น 226.7% …..” ข้อมูลจากกระทู้ I4067379 ในห้องสินธร โพสท์โดย อ่านขาด (ความเห็นที่ 12) เมื่อ 31 ม.ค. 49 ขอนำตัวเลขของ ดร.สังศิต มาแสดงในตารางเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ (ดูผ่านๆก็พอ)

 กำไรช่วงเป็นนายก ปี 44 - 47 (4 ปี)* 85,656  ล้านบาท
 กำไรก่อนเป็นนายก ปี 41 - 43 (3 ปี) 26,221  ล้านบาท
 กำไรเพิ่มขึ้น 59,435  ล้านบาท
 กำไรเพิ่มขึ้น 226.7% (59,435 ÷ 26,211)
*ตัวเลขที่ผมรวมได้จากรายงานประจำปีของทั้ง 3 บริษัทคือ 85,367 ล้านบาท

ข้อผิดพลาดแรก คือ
ยอดรวมกำไร 3 ปี (2541-2543) เปรียบเทียบกับ ยอดรวมกำไร 4 ปี (2544-2547) ผมไม่เคยเห็นใครเขาเปรียบเทียบกันแบบนี้


การเปรียบเทียบกำไรของ 2 ช่วงเวลา จะต้องใช้ฐานเดียวกันคือ 1 ปี, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี, …หรืออาจใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยแบบธรรมดาหรือค่ามัธยฐานของ 4 ปี และ 3 ปี แล้วเปรียบเทียบกำไรของ 2 ช่วงเวลาด้วยค่าเฉลี่ยแบบธรรมดาหรือค่ามัธยฐาน

เพื่อให้ทุกคนเห็นความผิดพลาดตรงนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างแล้วกัน บริษัท เอก มีกำไรปีที่ 1 – 7 เท่ากันทุกปีคือปีละ 100 ล้านบาท

 กำไร ปีที่ 4 - 7 (4 ปี)  400   ล้านบาท
 กำไร ปีที่ 1 - 3 (3 ปี)  300   ล้านบาท
 กำไรเพิ่มขึ้น 100   ล้านบาท
 ปีที่ 4 - 7 กำไรเพิ่มขึ้น 33% (100 / 300) ???

เห็นหรือยังครับว่า แม้ว่าบริษัทเอกกำไร 100 ล้านบาทเท่ากันทุกปี แต่ถ้าใช้วิธีวิเคราะห์ตามแบบของรศ.ดร.สังศิต มันกลายเป็นว่าบริษัทเอกมีกำไรเพิ่มขึ้น 33%

ผมมันแค่นักบัญชีไพร่คนหนึ่งเท่านั้น ความรู้ของผมมิอาจเทียบท่านได้ ไม่ได้มีตำแหน่งทางวิชาการเป็น รศ. ไม่ได้เรียนจบด็อกเตอร์เช่นท่าน แต่จะขอบอกท่านตรงๆว่า ไม่น่าผิดพลาดกับเรื่องง่ายๆแบบนี้เลย ฆ่าตัวตายชัดๆ

แม้ว่าผมจะมีความมั่นใจเต็มร้อยว่าความคิดของผมถูกต้องก็ตาม แต่คิดว่าน่าลองสอบถามเรื่องนี้กับนักสถิติ เพราะถือว่านักสถิติเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องพวกนี้กว่านักอื่นๆ ผมก็เลยโทรถามเพื่อนที่เรียนจบตรีโททางด้านสถิติ ซึ่งก็ได้ตอบผมว่า เขาเรียนมาก็ไม่เคยพบการเปรียบเทียบแบบ ดร.สังศิต

ข้อสังเกตุประการแรก คือ ทำไมท่านไม่นำเอาบริษัทอื่นมาเปรียบเทียบกับกลุ่มชินฯ

กำไรสูงขึ้น 226.7% น่ะมันกระจอก มาดูตัวเลขของปูนซิเมนต์ไทย (ถ้าวิธีการคำนวณแบบเดียวกันกับชินคอร์ป) ปี 2544-2547 กำไรรวม 78,675 ล้านบาท ปี 2541-2543 กำไรรวม 14,557 ล้านบาท ดังนั้นกำไรเพิ่มขึ้น 440% [(78,675 - 14,557) / 14,557] เตะกลุ่มชินฯตกคลองไปเลย  (แม้ว่าจะเป็นวิธีการเปรียบเทียบที่ผิดก็ตาม แต่ยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบ)

ข้อสังเกตุประการที่สอง คือ ช่วงปี 2541 – 2543 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา แต่ในช่วงปี 2544 – 2547 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี

ข้อผิดพลาดที่สอง ตัวเลขกำไรของกลุ่มชินฯ
บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเอไอเอสและหุ้นบริษัทชินแซต (ไทยคม) ดังนั้น ควรต้องทำความเข้าใจเรื่องการรับรู้กำไร (การบันทึกกำไร) เสียก่อน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการรับรู้กำไรโดยใช้วิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ขอยกตัวอย่างแบบนี้ก็แล้วกัน

บริษัท RED ถือหุ้นในบริษัท A 60% และถือหุ้นในบริษัท B 70% เช่นกัน (และบริษัท RED เป็น Holding Company แบบเต็มร้อยเลย คือ ไม่ได้ประกอบ ธุรกิจอะไรเลย เพียงแต่ถือหุ้นในสองบริษัทเท่านั้น) บริษัท A และ B มีกำไรก่อนภาษี 100 ล้านบาท และ 300 ล้านบาท


บริษัท A บริษัท B
 กำไรก่อนภาษี 100 300  ล้านบาท
 หัก ภาษี 30% 30 90  ล้านบาท
 กำไรหลังภาษี 70 210  ล้านบาท




 บ.RED บันทึกส่วนแบ่งกำไร 42 147  ล้านบาท

(70 x 60%) (210 x 70%)

นั่นคือในงบกำไรขาดทุนของบริษัท RED จะแสดงส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 189 ล้านบาท (42 + 147) เป็นรายได้ของบริษัท

คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการรับรู้กำไรโดยใช้วิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ก็จะเอากำไรของบริษัท A 70 ล้านบาท บริษัท B 210 ล้านบาท และ บริษัท RED 189 ล้านบาท มารวมกัน แล้วก็สรุปว่าทั้งสามบริษัทมีกำไรรวมกัน 469 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตัวเลขกำไรที่ ดร.สังศิตนำมาแสดงก็ใช้วิธีแบบนี้แหละครับ

ก่อนที่ผมจะตรวจสอบตัวเลขกำไรตามที่ ดร.สังศิต รายงานออกมานั้น ผมมั่นใจว่า ดร.สังศิตไปหยิบตัวเลขในงบการเงินมาใช้เลย แล้วนำเอากำไรของบริษัท ชินคอร์ป เอไอเอส และ ชินแซท มารวมกัน (เหมือนกับที่ผมได้ยกตัวอย่างไว้) มันไม่ผิดจากที่ผมคาดไว้จริงๆ ดร.สังศิต จับเอาตัวเลขกำไรของทั้งสามบริษัทมารวมกันเลย เท่ากับว่าตัวเลขกำไรที่ท่านนำมาแสดงนั้น มันมีกำไรซ้อนกำไรอยู่ ทำให้ตัวเลขของท่านสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ตัวเลขกำไรของกลุ่มชินฯช่วงปี 2544 – 2547 ของท่านคือ 85,656 ล้านบาท ที่ผมรวมได้จากรายงานประจำปีของทั้ง 3 บริษัทคือ 85,367 ล้านบาท ตัวเลขไม่ตรงกันไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ตรงที่บริษัทชินคอร์ปฯรับรู้กำไรจากซินแซทและเอไอเอสไปแล้ว 25,493 ล้านบาท ทำให้ตัวเลขกำไรปี 2544 – 2547 สูงเกินจริงไปเท่ากับ 25,493 ล้านบาท สำหรับปี 2541 – 2543 ก็ผิดเช่นกัน แต่ผมค้นหาได้เฉพาะปี 2542 – 2543 จึงไม่ได้นำมาแสดง

ท่านทำการศึกษาหรือทำการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวก็พอ การศึกษาหรือวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี ปล่อยให้นักวิชาการด้านบัญชีเขาทำเถอะ เขารู้ดีกว่าท่าน ท่านอย่าทำเลยครับ ผมขอร้องเถอะ

เฉพาะข้อผิดพลาดแรกของท่าน ผมว่าตัวท่านขาดความน่าเชื่อถือแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่ารายงานการศึกษาหรืองานวิจัยของท่าน มีเรื่องใดอีกบ้างที่มีความผิดพลาด

อีกส่วนหนึ่งในรายงานการศึกษากรณีกลุ่มชินฯของรศ.ดร.สังศิต
“…ที่เทมาเส็ก ต้องซื้อชินคอร์ปเหตุผลสำคัญประการเดียว คือ ชินคอร์ปไม่ต้องการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ…”
 

ชินคอร์ปฯก็เหมือนกับบริษัท RED ที่ผมได้ยกตัวอย่างผ่านมาแล้วนั่นเอง ก็บริษัท A และ บริษัท B ได้มีการเสียภาษีไปแล้ว (บริษัท RED บันทึกส่วนแบ่งกำไรฯจากบริษัท A และ B 189 ล้านบาท นั่นคือ 189 ล้านบาทนี้เป็นกำไรหลังหักภาษีไปแล้วนะครับ) จะให้บริษัท RED ซึ่งเป็น Holding Company มาเสียภาษีอีก ก็บ้าแล้ว

เมื่อบริษัท RED ได้รับเงินปันผลจากบริษัทย่อย A และ B (โดยบริษัท RED ไม่มีรายได้อื่นๆเลย เป็น Holding Company แบบเต็มร้อย คือถือหุ้นในบริษัทย่อยเพียงอย่างเดียว) เงินปันผลที่บริษัท RED ได้รับ ก็ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ผลก็คือ ไม่มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี
 

เมื่อบริษัท RED นำเอาเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท A และ B ไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น (บุคคลธรรมดา) ของบริษัท RED ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผล ก็มีสิทธิได้รับการเครดิตภาษีเงินปันผล

ส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากเงินลงทุนในบริษัทย่อยตามวิธีส่วนได้เสีย (Equity method) และเงินปันผลที่ไดรับจากบริษัทย่อย
https://www.rd.go.th/publish/828.0.html 
https://www.rd.go.th/publish/24545.0.html 

สารบัญบล็อก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น